เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้เพจเฟซบุ๊ก “ฝ่าฝุ่น” ได้ออกมาอัปเดตสถานการณ์ของดีเปรสชัน 98W ที่ขณะนี้ออกจากชายฝั่งฟิลิปปินส์มุ่งหน้าเวียดนามแล้ว และกำลังผ่านน่านน้ำที่มีศักยภาพในการขุนพายุได้ดีที่สุดในโลกตอนนี้ ทำให้เราต้องเฝ้าติดตามพายุลูกนี้ให้ดีเส้นทาง คือ ผ่านตอนกลางของเวียดนาม มายังลาว เข้าสู่อีสานเหนือ ไปยัง น่าน พะเยา และ เชียงราย (อีกแล้ว) ในอนาคตเมื่อโลกเดือดขึ้นเรื่อยๆ เราจะประสบกับความเหวี่ยงของฝน จากแล้งๆ จะเป็นฝนบอมป์หรือพายุที่รุนแรงทวี โดยมีกำลังได้เร็วมาก และสภาพฝนเหวี่ยงแบบนี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เราคงหยุดโลกร้อนไม่ได้มากเพราะมันตั้งอยู่พื้นฐานของความรักสบาย เห็นแก่ตัว และทุนนิยม
สำหรับคนไทยมีวิธีสร้างภูมิคุ้มกัน มีดังนี้
1. ปรับตัวกับสภาพที่ต้องอยู่กับน้ำคงเหมือนสมัยปู่ย่าตายายที่เราอยู่กับคลอง หรือน้ำท่วม ฯลฯ ได้โดยไม่เดือดร้อนเท่าไร น้ำเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
2. บริหารจัดการน้ำให้เก่ง เริ่มจากระบบเล็กๆ ด้วยการบริหารห้วยหลังหมู่บ้าน ขุดบ่อเก็บน้ำ (ทำโดยชาวบ้าน) ไปจนถึงระบบขนาดกลางและใหญ่ (ทำโดยราชการ) ให้มีความสามารถในการเก็บและชะลอน้ำไว้ได้ ให้มันลงเก็บใต้ดิน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและทรัพยากรน้ำ
3. รักษาป่าไม้ให้สมบูรณ์ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ พบว่า สัดส่วนป่าเต็งรังนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หมายความว่า ป่าเบญจพรรณกำลังเปลี่ยนมาเป็นป่าเต็งรังมาขึ้นเรื่อยๆ หรือในภาษาชาวบ้าน ป่าโดยรวมกำลังลดความสมบูรณ์ชุ่มชื้นลงจากน้ำที่ป่าเก็บกักไว้ลดลงเรื่อยๆ ขั้นต่อไปคือ ป่าเต็งรังจะกลายมาเป็นทุ่งหญ้าซึ่งเป็นเชื้อไฟอย่างดี เราควรรักษาป่าให้สมบูรณ์ที่สุดด้วยการไม่ “ตอแย” การจุดเผาป่าเป็นการตอแยที่แย่ที่สุด โชคดีแค่ไหนแล้วที่ป่ายังฟื้นฟูตัวเองให้หายป่วยได้เอง ป่านั้นจะเป็นกันชนกับการเหวี่ยงของฝน ทั้งน้ำเยอะเกินและน้ำแล้ง มันจะทำให้เรามีน้ำใช้ตลอดปี
อย่างไรก็ตาม ณ จุดนี้เห็นใจคนเชียงรายมากว่าบางคนยังไม่ทันได้ล้างบ้านเลย หรือเข้าบ้านก็ไม่ได้ น้ำก็ยังไหลเชี่ยวหรือมีโคลนหนาเป็นฟุตๆ มีโอกาสจะโดนอีกลูกซะแล้ว พนักงานบริษัทผมรวมตัวกันจะขึ้นไปช่วยชาวแม่สาย เสาร์-อาทิตย์นี้ อาจจะไปพบกับพายุลูกนี้พอดี ส่วนผมบริจาคเงินไปกับมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก
ขอบคุณข้อมูล : เพจฝ่าฝุ่น
ขอบคุณเนื้อหาจาก เดลินิวส์ https://www.dailynews.co.th/news/3872296/