เพราะฟุตบอลไม่ใช่กีฬาชายเดี่ยว : นอร์เวย์ ของ ฮาแลนด์ & โอเดการ์ด ตกรอบคัดเลือก ยูโร 2024 (เช่นเคย!) – FEATURE

คงเห็นกันอยู่ในแทบทุกสัปดาห์ กับการถล่มประตูของ เออร์ลิ่ง เบราท์ ฮาแลนด์ จอมปีศาจแห่ง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เช่นเดียวกับฟอร์มสวยๆ ของ มาร์ติน โอเดการ์ด ที่ อาร์เซน่อล ทว่าเมื่อมาถึงคิวทีมชาติ มาถึง นอร์เวย์ แล้ว ก็ถือเป็นคนละเรื่อง อันรวมถึง ยูโร 2024 ที่ชัดเจนแล้วว่า นอร์เวย์ ตกรอบคัดเลือกแบบซี้แหงแก๋ ที่แม้แต่ เพลย์ออฟ ก็ไม่ได้ไป!

แม้จะส่งนักเตะฝีเท้าดีมาประดับวงการอยู่ตลอดและไม่ใช่น้อยๆ แต่ข้อเท็จจริงคือ ต้องหมุนเข็มนาฬิกาให้เดินกลับหลังไปนานกว่า 20 ปี ถึงจะเจอ นอร์เวย์ ในทัวร์นาเมนต์ใหญ่

ภาพจำสำคัญคือ "ฟร้องซ์ 98" ฟุตบอลโลก 1998 ที่ฝรั่งเศส ซึ่งภายใต้การทำทีมของ เอกิล โอลเซ่น (นอร์เวย์ 1990-1998, วิมเบิลดัน 1999-2000) และขุมกำลังชั้นเยี่ยมอย่าง โอเล่ กุนนาร์ โซลชา, ทอเร่ อันเดร โฟล, เฮนนิ่ง เบิร์ก, รอนนี่ ยอห์นเซ่น, ออยวินด์ ลีออนฮาร์ดเซ่น, สติ๊ก อิงเก้ บียอร์นบี้, สตาเล่ โซลบัคเค่น, โฟรเด้ โกรดาส ฯลฯ นอร์เวย์ สร้างความฮือฮาตั้งแต่รอบแรก ที่หลังจากเสมอ 2 เกมแรก (และเสียวจะตกรอบ) แล้ว ก็ไปฮึดสยบแชมป์เก่า บราซิล 2-1 จนเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายเป็นอันดับ 2

ส่วนในรอบ 16 ทีม ก็สู้กับทีมหัวแถวอย่าง อิตาลี อย่างสูสี และแพ้อย่างน่าเสียดาย 0-1 จากประตูโทนของ คริสเตียน วิเอรี่

ควรถือได้ว่า ห้วงยามนั้นถือว่า นอร์เวย์ กำลังพีคจัดๆ และเป็น "หัวเลี้ยวหัวต่อ" ของการยกระดับตัวเองขึ้นไปอีกขั้น

แม้จะอยู่อย่างเจียมตัวเจียมใจ ด้วยว่าทั้ง 3 ทัวร์นาเมนต์ที่เข้ารอบสุดท้ายก็ใช่ว่าจะไปได้ไกลนัก แต่ให้หลังจากการเข้ารอบสุดท้าย 3 จาก 4 รายการในช่วงนั้นแล้ว ก็ยากจะเชื่อว่า นอร์เวย์ "ไม่มีวันนั้นอีกเลย"

ฟุตบอลโลก ตกรอบคัดเลือกยาวๆ 2002 – 2022

ยูโร ก็เช่นเดียวกัน… ร่วงคัดเลือกตั้งแต่ 2004 จนวันนี้

อะไรเอ่ย ขึ้นหน้าขึ้นตาฟุตบอล นอร์เวย์ ในช่วง 2-3 ปีหลัง มาจนวันนี้

นอกจากสิวและฝ้า ก็ชัดเจนว่าคือ เออร์ลิ่ง เบราท์ ฮาแลนด์ กับ มาร์ติน โอเดการ์ด

รายแรก เริ่มสร้างชื่อกับ โมลด์ ก่อนไปเก็บเลเวลกับ เร้ดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก แล้วอัพคลาสไป โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จนตอนนี้ก็กลายเป็นจอมปีศาจล่าตาข่าย ดาวยิงที่ดีที่สุดของ พรีเมียร์ลีก กับทาง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไปแล้ว

สุดสวิงริงโก้อีโตบั๊มพ์มาตั้งแต่ 2019/20 ที่ยิงรวม 44 ประตูกับ 2 สโมสร (ซัลซ์บวร์ก + ดอร์ทมุนด์) และต่อมาก็กด 41 ประตูใน 41 เกมกับ ดอร์ทมุนด์ 2020/21 แล้วอย่างที่ทราบกันดี ในสีเสื้อ แมนฯ ซิตี้ ปีแรก ฮาแลนด์ รัวไป 52 ประตูจาก 53 นัด ก่อนที่ซีซั่นนี้จะจัดให้แล้ว 17 ลูกจาก 18 เกม

ส่วนในทีมชาตินอร์เวย์ ฮาแลนด์ กดแล้ว 27 ประตูจาก 29 นัด ขออีกแค่ 6 ประตูจะกลายเป็น "ดาวยิงสูงสุดตลอดกาล" ของชาติ…ที่จะมาแน่ในไม่ช้าไม่นาน

ความดีงามของ ฮาแลนด์ ที่จริงแล้วก็คู่ควรอย่างยิ่งกับรางวัลแข้งยอดเยี่ยมโลก "บัลลง ดอร์ 2023" ที่เพิ่งแจกไปเมื่อเดือนก่อน โดยที่เจ้าของรางวัลอย่าง ลิโอเนล เมสซี่ ออกปากการันตีไว้เองว่า "รอแป๊บน้อง เดี๋ยวก็ได้" แค่ว่าปีนี้ พี่มีแชมป์โลกมางัดแค่นั้นเอง

เวลาเดียวกัน อาจไม่สะบึ้มฮึ่มฮั่มเหมือนเพื่อน แต่ มาร์ติน โอเดการ์ด ก็สอบผ่านฉลุยในฐานะกัปตันทีม อาร์เซน่อล และหนึ่งในมิดฟิลด์ตัวสร้างสรรค์เกมที่ดีที่สุดของ พรีเมียร์ลีก เช่นกัน

แม้การเซ็นสัญญากับ เรอัล มาดริด ตอนอายุ 16 จะออกทรงล้มเหลว และถูกกระซิบว่าเป็นดีลการตลาด แต่ โอเดการ์ด ก็พิสูจน์ตัวเองได้สำเร็จจน เรอัล มาดริด ต้องแอบเสียดายที่ยอมปล่อยออกมาให้ อาร์เซน่อล แลกค่าตัว 35+5 ล้านยูโร และนักเตะเล่นดีเกินราคาไปมาก

ซีซั่นที่แล้วซึ่ง อาร์เซน่อล ก้าวขึ้นไปท้าชิงแชมป์ พรีเมียร์ลีก เต็มตัว โอเดการ์ด ฟอร์มโหดจัดด้วยการซัดถึง 15 ประตูกับ 7 แอสซิสต์ ซึ่งมาตรฐานนั้นก็ยังคงอยู่ถึงซีซั่นนี้ ที่มีแล้ว 5 ลูกกับ 1 แอสซิสต์

ที่ร่ายมาทั้งหมดนี้ คือส่วนที่ย้ำว่าคุณภาพฝีเท้าของ ฮาแลนด์ & โอเดการ์ด ต่างก็ติดลมบนไปแล้ว — การันตีด้วย บัลลง ดอร์ 2023 ที่ ฮาแลนด์ มาเป็นเบอร์ 2 ส่วน โอเดการ์ด เข้าที่อันดับ 28

นึกไม่ออกเหมือนกันว่า หนสุดท้ายที่นักเตะนอร์เวย์ติดชาร์ต บัลลง ดอร์ พร้อมกัน 2 คน มันเมื่อไหร่…หรือเคยเกิดขึ้นสักครั้งไหม?

แต่ทานโทษ ว่าต่อให้ ฮาแลนด์ & โอเดการ์ด จะเปรี้ยงปร้างตูมตามโครมครามขนาดไหนในระดับสโมสร

เมื่อฟุตบอลไม่ใช่กีฬาประเภท "ชายเดี่ยว" การเติบโตของ ฮาแลนด์ & โอเดการ์ด ก็ยัง "ไม่ตอบโจทย์" ให้กับ นอร์เวย์ อยู่ดี

ยูโร 2020 เข้าข่าย "ดีแล้ว" แต่ยัง "ดีไม่พอ" เมื่อตลอด 10 นัดของการคัดเลือก แม้จะหลุดแพ้แค่เกมเดียวถ้วน (1-2 สเปน) แต่ด้วยการหลุดเสมอเยอะไปนิด (5 นัด) ก็ทำให้แต้มขาดไปเยอะ จบอันดับ 3 ตามหลังทั้ง สเปน และ สวีเดน

แล้วแม้จะได้ไปต่อเพลย์ออฟ แต่ทุกอย่างก็เกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วใน 1 เกมถ้วน กับเกมตัดเชือกของ Path C ที่ นอร์เวย์ ต้องเจอกับ เซอร์เบีย และแพ้ 1-2 ตอนต่อเวลา เซอร์เก มิลินโควิช-ซาวิช ซัดสอง

มาที่ ฟุตบอลโลก 2022 ก็ออกทรงคล้ายๆ เดิม คือ "ทำดีพอตัว" แต่ก็ยังไม่มากพอ ด้วยจากคิวคัดเลือกทั้งหมด 10 นัด นอร์เวย์ ชนะแค่ครึ่งเดียว เข้าป้ายอันดับ 3 ตามเดิม ปล่อยให้ เนเธอร์แลนด์ เข้าอัตโนมัติ และ ตุรกี ไปต่อเพลย์ออฟ

ไม่ต่าง..ไม่ต่างกันเลย กับการคัดเลือก ยูโร 2024 ที่ออกทรงเดียวกับ 2 ทัวร์นาเมนต์ก่อนหน้านี้เป๊ะ

คือดีแล้วแต่ยังดีไม่พอ และ นอร์เวย์ ก็ต้องร้องเพลงรอทัวร์นาเมนต์ใหญ่อยู่ร่ำไป

ความผิดพลาดหนักมากของทัพไวกิ้งในการทำทีมของ สตาเล่ โซลบัคเค่น (มิดฟิลด์ชุดบอลโลก 98) คือช่วงเริ่มต้นที่เป็นไปอย่างเลวร้าย แม้การแพ้ สเปน จะพอเข้าใจได้ แต่อีก 2 เกมถัดจากนั้นคือ "จุดสลบ" ชัดเจน กับการได้แค่แต้มเดียวจาก จอร์เจีย และพลาดท่าแพ้ สกอตแลนด์ คาบ้าน 1-2 ชนิดโดน 2 ตุง (ลินดอน ไดค์ส, เคนนี่ แม็คลีน) น.87 กับ 89

สามเกมแรกเสมอ 1 แพ้ 2 เท่ากับ นอร์เวย์ โดนทิ้งห่างไปตั้งแต่เนิ่นๆ จนต่อให้จะเร่งเครื่องกลับมาชนะ 3 เกมซ้อนหลังจากนั้น ก็ไม่ทันแล้ว

ที่จริง การที่จะ "ไม่จบใน 2 อันดับแรก" ของกลุ่ม สำหรับ นอร์เวย์ ถูกยืนยันเป็นทางการตั้งแต่คิวทีมชาติงวดที่แล้ว เดือน ต.ค. ที่พวกเขาแพ้ สเปน คาบ้านเข้าให้อีก 0-1

จนมาตอนนี้ ก็ถูกย้ำซ้ำไปอีกว่า แม้แต่ "เพลย์ออฟ" ก็หมดสิทธิ์ เมื่อเป็นทาง จอร์เจีย ได้ไปต่อจากบุญเก่าใน ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก

นอร์เวย์ ตกรอบแบบเบ็ดเสร็จ แม้ยังเหลือคิวเตะ 1 เกมสุดท้าย

ด้วย "องค์ประกอบ" ที่ไม่พอดี ไม่ส่งเสริมกันและกัน ทำให้ ฮาแลนด์ & โอเดการ์ด ก็ช่วยไม่ได้

เกมรับพวกเขาอาจมี คริสโตเฟอร์ อาเยอร์ จาก เบรนท์ฟอร์ด เป็นตัวนำ หรือ เลโอ ออสติการ์ด ของ นาโปลี ก็กำลังมา เช่นกัน แดนกลางยังมี ซานเดอร์ เบอร์เก้ จาก เบิร์นลี่ย์, โมฮาเหม็ด เอลยูนุสซี่ จาก โคเปนเฮเก้น, คริสเตียน ธอร์ทเวท จาก ซาสซูโอโล่ เป็นตัวเสริม หรือข้างหน้า อเล็กซานเดอร์ ซอร์ล็อธ จาก บียาร์เรอัล กับ ยอร์เก้น สตรานด์ ลาร์เซ่น จาก เซลต้า บีโก้ ก็พร้อมสลับทำหน้าที่

แต่ทั้งหมด ล้วนแต่อยู่ในจุดที่ "กำลังเติบโต" หรือไม่ก็ "คุณภาพด้อยไป" เกินกว่าที่จะมาสร้างเป็นภาพจิ๊กซอว์สวยๆ ที่มี ฮาแลนด์ & โอเดการ์ด เป็นชิ้นส่วนใหญ่สุดของภาพ

อะไรแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับหลายๆ ทีมชาติเหมือนกัน เช่น เนเธอร์แลนด์, เวลส์, สวีเดน, เดนมาร์ก ฯลฯ ที่เมื่อองค์ประกอบในทีมชาติไม่แข็งแกร่งสม่ำเสมอกัน ก็ยากจะประสบความสำเร็จได้

ฮาแลนด์ & โอเดการ์ด เก่งมากแน่อยู่แล้ว แต่จะให้ "แบก" ทั้งทีมเข้ารอบ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน

สำหรับ นอร์เวย์ คงต้องไปว่ากันถึง ฟุตบอลโลก 2026 แล้ว ซึ่งการคัดเลือกโซนยุโรป กว่าจะเริ่มก็โน่น ต้นปี 2025 เลย นั่นก็คือ "รอกันยาว" นั่งหาวนอนหาวกันไป

แต่กับการคัดเลือก ยูโร 2024 ที่ยังเหลือโปรแกรมคัดเลือกนัดสุดท้าย คืนอาทิตย์-จันทร์-อังคารนี้ ยังพอจะมีอะไรเหลือให้ได้ลุ้นกันบ้าง ภายหลังได้ทีมตีตั๋วเข้ารอบสุดท้ายถึง 16 ชาติแล้วนั้น

จัดให้แล้วที่ตรงนี้…

กลุ่ม A – อย่างที่ว่า บทสรุปทุกอย่างปรากฏแล้ว สเปน ควงคู่ สกอตแลนด์ เข้ารอบสุดท้าย จอร์เจีย ไปเพลย์ออฟ และ นอร์เวย์ กับ ไซปรัส ตกรอบ

กลุ่ม B – ครบถ้วนทุกอย่างแล้วเช่นกัน ฝรั่งเศส กับ เนเธอร์แลนด์ ตีตั๋วตามคาด กรีซ เพลย์ออฟ และ ไอร์แลนด์ กับ ยิบรอลตาร์ ตกรอบ

กลุ่ม C – กลุ่มที่ต้องจับตา จันทร์นี้ เกมตัดสินระหว่าง ยูเครน กับ อิตาลี ที่สนามกลาง ไบ อารีน่า, เลเวอร์คูเซ่น ว่าใครจะตาม อังกฤษ เข้ารอบสุดท้ายไป โดยแชมป์เก่า อิตาลี ต้องการแค่ผลเสมอเพื่อชนะเฮดทูเฮด ส่วน ยูเครน ต้องชนะเท่านั้น

กลุ่ม D – สถานการณ์คล้ายกลุ่ม C คือ โครเอเชีย (13) กับ เวลส์ (11) ต้องชิงตั๋วอีกใบ เพื่อตาม ตุรกี เข้ารอบ แต่คู่นี้ไม่ได้เจอกันเองในนัดสุดท้าย โดย โครเอเชีย พบ อาร์เมเนีย ส่วน เวลส์ เจอ ตุรกี

กลุ่ม E – อัลเบเนีย เข้ารอบแล้ว ส่วนอีกหนึ่งโควตา สาธารณรัฐเช็ก (12) กับ มอลโดว่า (10) ต้องแย่งชิงกันโดยตรง ในขณะที่ โปแลนด์ (11) ต้องไปต่อเพลย์ออฟแน่นอนแล้ว เนื่องจากแข่งครบโปรแกรมก่อนใคร

กลุ่ม F – ตัดสินไปนานแล้ว ออสเตรีย ควงคู่ เบลเยียม เข้ารอบ นั่นเท่ากับ สวีเดน ตกรอบคัดเลือก อดไปยูโรเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ 1996

กลุ่ม G – ฮังการี เข้ารอบ อีกโควตาต้องแย่งกันระหว่างคนคุ้นหน้า เซอร์เบีย กับ มอนเตเนโกร

กลุ่ม H – เดนมาร์ก เข้ารอบช้าหน่อยแต่ก็ไปได้ตามคาด ที่เหลือ สโลวีเนีย กับ คาซัคสถาน ไปแย่งกันเอง ส่วน ฟินแลนด์ ไปเพลย์ออฟ

กลุ่ม I – โรมาเนีย & สวิตเซอร์แลนด์ ควงคู่กันเข้ารอบ อิสราเอล เพลย์ออฟ

กลุ่ม J – โปรตุเกส & สโลวาเกีย เข้ารอบ ลักเซมเบิร์ก & บอสเนียฯ เพลย์ออฟทั้งคู่

ขอบคุณเนื้อหาจาก 90min.com
https://www.90min.com/th/posts/feature-football-is-team-confirmed-by-norway-after-failed-in-euro-2024