เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ เป็น อสส. ได้ลงนามตอบถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า “นายทักษิณ ชินวัตร” (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด เพื่อขอทราบว่าได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน
เดิมนั้นมีรายงานว่า ที่อัยการสูงสุดส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญมีข้อมูลในการสอบถ้อยคำ ทั้งทางฝั่งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง โดยในส่วนผู้ถูกร้องทราบว่า ไม่ได้มีการสอบถ้อยคำ นายทักษิณ ชินวัตร
อย่างไรก็ตาม มีรายงานเพิ่มเติม พบว่าในวันดังกล่าว (8 พ.ย.) นอกจากอัยการสูงสุดจะส่งบันทึกสอบถ้อยคำทั้งพยานฝ่ายผู้ร้อง และผู้ถูกร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีความเห็นแจ้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าเรื่องนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะทำงานที่เสนอมายังอัยการสูงสุดก่อนหน้านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรัฐธรรมนูญมาตรา 49 บัญญัติไว้ว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้
ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ การดำเนินการตามมาตรานี้ ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง เท่ากับว่าแม้อัยการสูงสุดจะมีมติไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะยังมีอำนาจพิจารณาคดีต่อไปได้.
ขอบคุณเนื้อหาจาก เดลินิวส์ https://www.dailynews.co.th/news/4095557/