ฉากและชีวิต ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สะท้อนวิถีคนการเมืองพันธุ์เก่า มีขึ้น มีลง มีรุ่ง มีร่วง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ลาออกจากตำรวจกองปราบ ลงสมัคร ส.ส.ในสีเสื้อพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเลือกตั้งทั่วไปปี 2526
อดีตนายตำรวจหนุ่ม ได้รับเลือกเป็น สส.กทม.เขต 12 (ภาษีเจริญ บางกอกใหญ่ และหนองแขม) แค่เป็น สส.สมัยแรก ก็กลายเป็นดาวสภาฝีปากกล้า
หลังจากนั้น ร.ต.อ.เฉลิม ได้ลาออกจาก ปชป. มาสร้างรังของตัวเองในนามพรรคมวลชน และได้รับเลือกเป็น สส.กทม.สมัยที่ 2 แต่ลูกพรรคสอบตกหมด
ตั้งแต่ ร.ต.อ.เฉลิม นำพรรคมวลชน ลงสนามเลือกตั้งระหว่างปี 2529-2539 พรรคนี้เคยมี สส.เคยมี สส.สูงสุด 3 คน ส่วนใหญ่ได้แค่ 1-2 คน แต่บทบาทของ ‘เหลิม ดาวเทียม’ จะยิ่งใหญ่ประหนึ่งว่ามี สส.10-20 คน
ปัจจุบัน ร.ต.อ.เฉลิม ในวัย 76 ปี มีสถานะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ประกาศตัดขาดกับทักษิณ ชินวัตร อันเนื่องจากมีเสียงสะ ท้อนจากชั้น 14 รพ.ตำรวจ ทำนองว่า สองพ่อลูกคู่นี้ ‘กวนโอ๊ย’
ปฏิบัติการดับเครื่องชนทักษิณ ของประมุขบ้านริมคลอง หลังวัดบางบอน เที่ยวล่าสุด ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ในอดีต กรณีบิ๊กจ๊อด-พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ และบิ๊กจิ๋ว-พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว
ท้ารบขุนศึก
ปี 2532 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หัวหน้าพรรคมวลชน ที่มี สส.อยู่ 3 คน ได้เข้าร่วมรัฐบาลชาติชาย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล อสมท.
28 พ.ค.2533 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจาก ผบ.สส. มารับตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในรัฐบาลชาติชาย
เนื่องจาก ร.ต.อ.เฉลิม ได้วิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ชวลิต และลามไปถึงคุณหญิงหลุยส์ ภรรยาบิ๊กจิ๋วในเวลานั้น ส่งผลให้อดีตนายทหารใหญ่น้อยใจทิ้งเก้าอี้รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ไปตั้งพรรคความหวังใหม่
อย่างที่รู้กัน ร.ต.อ.เฉลิม แสดงตัวเป็นองครักษ์พิทักษ์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี โดยออกหน้าชนกับกลุ่มขุนศึก ถึงขั้นดักฟังความเคลื่อนไหวของกองทัพ
กองทัพจึงยึดรถโอบีของ อสมท.ในซอยวัดไผ่เลี้ยง เขตหนองแขม ด้วยข้อหาใช้คลื่นส่งสัญญาณเดียวกับทหารกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ร้อนถึง พล.อ.ชาติชาย ต้องลงมาหย่าศึก
‘เหลิม ดาวเทียม’ ขุนศึกฝั่งธนฯ กลายเป็นศัตรูของกองทัพ ในยุคที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็น ผบ.ทบ. และ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เป็น ผบ.สส.
วันที่ 23 ก.พ.2534 คณะ รสช. ภายใต้การนำของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ได้เข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลชาติชาย ร.ต.อ.เฉลิม ต้องหนีไปภาคใต้ ก่อนจะไปปักหลักอยู่ที่สิงคโปร์ และทำเรื่องขอลี้ภัยไปอยู่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
ปลายปี 2534 ร.ต.อ.เฉลิม และครอบครัว เดินทางกลับเมืองไทย โดยการอนุญาตของบิ๊กจ๊อด-พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ประธานคณะ รสช.
“กลับมานี่ เพราะพี่จ๊อด ท่านอนุญาตให้กลับ เพราะผูกพันกันในฐานะลูกน้องเก่ากับนายเก่า สมัยเป็นทหาร” ประมุขบ้านริมคลอง บอกกับนักข่าว ทันทีที่เหยียบแผ่นดินไทย
จิ๋วหวานเจี๊ยบ
หลังกลับมาเล่นการเมือง เส้นทางพรรคมวลชนของ ร.ต.อ.เฉลิม ก็ไม่ต่างจากพรรคบ้านริมคลอง เพราะได้ สส.สมัยละ 1-2 ที่นั่ง ด้วยเหตุนี้ ร.ต.อ.เฉลิม จึงหันไปคืนดีกับ พล.อ.ชวลิต ร่วมเป็นพันธมิตรทางการ เมืองสู้ศึกเลือกตั้งปี 2539
การเลือกตั้งปี 2544 ภายใต้กติกาใหม่รัฐธรรมนูญ 2540 ดาวสภาฝั่งธน จึงทิ้งพรรคมวลชน กระโดดเข้าร่วมงานกับพรรคความใหม่
เมื่อทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต จึงนำพรรคความหวังใหม่ เข้าควบรวมกับพรรคไทยรักไทย โดยบิ๊กจิ๋ว ได้ตำแหน่งรองนายกฯ ควบ รมว.กลาโหม
ตอนนั้น มีข่าวว่า ทักษิณไม่ปลื้มเฉลิม จึงไม่ได้ให้ตำแหน่งใดๆ ในคณะรัฐบาล อันเป็นช่วงเวลาที่ ‘เหลิม ดาวเทียม’ หายไปการเมืองไทยพักใหญ่
อย่างไรก็ตาม บิ๊กจิ๋วก็เป็นคนลงนามอนุมัติให้ ดวง อยู่บำรง ลูกชายคนเล็กของเฉลิม เข้าเป็นนายทหารสังกัดสำนักงานเลขานุการ รมว.กลาโหม เมื่อปี 2544
ก่อนที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประชา รมช.กลาโหม ขณะนั้น จะออกคำสั่งพักราชการ ร.ต.ดวง เพราะเจอคดีดาบยิ้มที่โด่งดังเวลานั้น
กลางปี 2547 เมื่อ ดวง อยู่บำรุง เป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีดาบยิ้ม จึงมีคนเห็น ร.ต.อ.เฉลิม เดินทางไปพบทักษิณ ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่ตัวเขาจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. และได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 4
ใต้ร่มเงาชินวัตร
สมัยที่ ร.ต.อ.เฉลิม เรืองอำนาจในรัฐบาลชาติชาย ทักษิณยังเป็นนักธุรกิจโทรคมนาคม ไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง
ทักษิณเริ่มทำธุรกิจโทรคมนาคม ด้วยการนำวิทยุติดตามตัว(Pager) ยี่ห้อ Phonelink เข้ามาจำหน่าย และเป็นผู้บุกบุกเคเบิลทีวีรายแรกของเมืองไทย
ปี 2533 ร.ต.อ.เฉลิม ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล อสมท. ได้อนุมัติให้บริษัท IBC เคเบิลทีวี ของทักษิณ ได้สัญญาสัมปทานเคเบิลทีวี โดยเจ้าของสัมปทานคือ อสมท.
ช่วงที่ทักษิณ เล่นการเมืองในนามพรรคพลังธรรม ร.ต.อ.เฉลิมก็โลดแล่นไปตามวิถีขาใหญ่ ต่างคนต่างเดิน
กระทั่งเกิดรัฐประหาร 2549 ทักษิณกลายเป็นผู้ลี้ภัย ร.ต.อ.เฉลิม จึงได้อาสามาเป็นแม่ทัพให้พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย
‘เหลิม ดาวเทียม’ กลับมาผงาดอีกครั้ง ภายใต้ร่มเงาชินวัตร ได้เป็น รมว.มหาดไทย รัฐบาลสมัคร และเป็นรองนายกฯ กำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รัฐบาลยิ่งลักษณ์
ทายาทบ้านริมคลอง
ในบรรดาทายาทประมุขบ้านริมคลอง คือ อาจหาญ, วัน และ ดวง มีเพียง หนุ่มหรือวัน ลูกชายคนกลาง มีหน่วยก้านเหมาะที่จะลุยสนามเลือกตั้ง
ปี 2544 เฉลิม ส่งทายาท วัน อยู่บำรุง ในนามพรรคความหวังใหม่ ลงสนาม กทม.เขต 37 (เขตทวีวัฒนา, เขตหนองแขม และเขตบางแค เฉพาะแขวงหลักสอง) ปรากฏว่า วันสอบตก ได้แค่ 17,074 คะเเนน
ปี 2554 มีการแบ่งเขตใหม่ กกต.ผ่าเขตหนองแขม ออกเป็น 2 ซีก โดยแขวงหนองแขม ไปรวมกับเขตบางบอน ส่วนแขวงหนองค้างพลู ไปอยู่กับเขตทวีวัฒนา
วัน อยู่บำรุง สวมเสื้อเพื่อไทย ลงสนามเขตบางบอน (รวมแขวงหนองแขม) พ่าย พ.ต.อ.สามารถ ม่วงศิริ ค่าย ปชป.เพียง 3 พันคะแนน
ปี 2562 ทายาทเฉลิมประสบความสำเร็จ วัน ได้รับเลือกเป็น สส.กทม.เขตบางบอน(รวมแขวงหนองแขม) โดยอาศัยกระแสเพื่อไทย บวกคะแนนนิยมส่วนตัวของตระกูลอยู่บำรุง
ปี 2566 อดีต สส.วัน พ่ายกระแสสีส้ม ส่งผลให้ ไอซ์-รักชนก ศรีนอก เป็น สส.กทม.เขตบางบอน ทำให้บ้านริมคลอง หลังวัดบางบอน ตกอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวอ้างว้างในเพื่อไทย
คำประกาศตัดขาดทักษิณในวันนี้ อาจเป็นการส่งสัญญาณไปยังชั้น 14 รพ.ตำรวจว่า บ้านริมคลองยังมีที่อยู่ที่ยืน ไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอก อย่าด่วนชิง ‘ฆ่าโคถึก’ เพราะยังมีศึกใหญ่รออยู่ช้างหน้า
ขอบคุณเนื้อหาจาก กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/politics/1092686