ระทึก! ศาลรธน.นัด 23 พ.ค. ชี้ชะตา “นายกฯ-พิชิต” ต้องพักปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

วันนี้ (18 พ.ค. 67) แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค.นี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมพิจารณาคำร้องของบรรดาสมาชิกวุฒิสมาชิก(ส.ว.) 40 คน ที่ได้ร่วมกันเข้าชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความสิ้นสุดลงในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของนายพิชิต ชื่นบาน

หลังมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นว่า ด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

โดย ส.ว.ส่งเรื่องผ่านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา และคำร้องถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่า จะรับคำร้องของส.ว.ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ และหากรับจะพิจารณาว่า นายเศรษฐา ต้องพักการปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ไว้ก่อนหรือไม่ และ นายพิชิต ต้องพักการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไว้ก่อนหรือไม่

ก่อนหน้านี้นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้ร่วมลงชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ นายพิชิต ชื่นบาน และ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ประกอบมาตรา 160(4) (5) หรือไม่ เปิดเผยถึงเหตุผลที่ระบุและบรรยายให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา คือ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคล ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งกรณีของ นายพิชิต นั้น มีข้อเท็จจริงที่ปรากฎให้เห็นว่า มีการละเมิดอำนาจศาล และมีคำสั่งศาลสั่งให้จำคุก

มีคำบรรยายรายละเอียดข้อเท็จจริงของศาลที่ชัดเจนว่า มีพฤติกรรมทุจริต ติดสินบนต่อกระบวนการยุติธรรม และถูกนำเรื่องเข้าสู่สภาทนายความให้ลบชื่อจากการเป็นทนายความ ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่ชัดแจ้งว่า ไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และยังมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ส่วนกรณียื่นให้พิจารณาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ นายเศรษฐา นั้น นายดิเรกฤทธิ์ อธิบายว่า เป็นกรณีสืบเนื่องกันว่า มีประเด็นที่ทักทวงต่อการตั้ง นายพิชิต ให้ดำรงตำแหน่ง แต่ทำไมนายกฯยังเสนอชื่อ และโปรดเกล้าฯ ให้ นายพิชิต ดำรงตำแหน่งในตำแน่งรัฐมนตรีอีก ดังนั้นจึงถือเป็นความรับผิดชอบของนายกฯ

“กรณีนายกฯ ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย ส่วนที่ระบุว่าได้หารือกับกฤษฎีกาแล้ว พบว่าเป็นการหารือที่ไม่ตรงประเด็น ทั้งระยะเวลาการพ้นโทษ และการตีความระหว่างคำสั่ง กับคำพิพากษาเหมือนกันหรือไม่ ทั้งนี้เรายังพบประเด็นที่เป็นปัญหา จึงเข้าชื่อเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย”


ขอบคุณเนื้อหาจาก ฐานเศรษฐกิจ https://www.thansettakij.com/politics/596356