พลิกโผ ‘อาวุโสลำดับ 1’ ? ผบ.ตร.คนที่ 15 ยุคนายกฯหญิง

“วันนี้เป็นวันสุดท้าย ที่ผมจะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ กฎ ก.ตร. ระเบียบ หลักเกณฑ์ ว่าด้วยการแต่งตั้ง ยังไม่อาจเริ่มกระบวนการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ได้ ประกอบกับมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 335/2567 ลงวันที่ 26 ก.ย. 2567 ให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เป็นผู้รักษาราชการแทนในตำแหน่ง ผบ.ตร. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2567 เป็นต้นไป ผมจึงขอส่งมอบหน้าที่ ผบ.ตร. ให้แก่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. ณ บัดนี้”

ตอนหนึ่งในการกล่าวอำลาตำแหน่ง และส่งมอบหน้าที่ ผบ.ตร.ของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ซึ่งเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.2567

ต่อจากนั้น ก็เป็นการนับหนึ่งกระบวนการสรรหา ผบ.ตร.คนใหม่

สำหรับการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ในปี 2567 มีความจำเป็นต้องยืดระยะเวลาออกไปหลังวันที่ 30 ก.ย. 2567 เนื่องจากราชกิจจานุเบกษาประกาศเผยแพร่ กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 และให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน

ดังนั้น กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งฯ จะมีผลบังคับใช้วันที่ 3 ต.ค. 2567 และกระบวนการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนที่ 15 ต้องเริ่มต้นนับจากนั้น

ถือเป็นการแต่งตั้งตำรวจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 ครั้งแรก

โดยผู้ที่จะเป็น ผบ.ตร. กำหนดคุณสมบัติเอาไว้ 2 ข้อ 1.ยศเป็น พลตำรวจเอก (พล.ต.อ.) 2. เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) หรือจเรตำรวจแห่งชาติ(จตช.) ในการคัดเลือก ต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะในงานสืบสวนสอบสวน และงานป้องกันปราบปราม

ทั้งนี้ นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) ได้นัดประชุม ก.ตร.วาระพิเศษ ในวันที่ 7 ต.ค.2567 นี้ โดยมีวาระคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่

สำหรับขั้นตอนการคัดเลือก ผบ.ตร.ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติปี 2565 มาตรา 78 ระบุว่าให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกรายชื่อเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

โดยระหว่างที่พิจารณาวาระดังกล่าว 3 แคนดิเดต ได้แก่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรงและพล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ จะต้องออกจากห้องประชุม เนื่องจากถือว่ามีส่วนได้เสีย จะทำให้มีเสียงโหวต 10 เสียง รวมถึงนายกฯ ซึ่งเป็นประธาน ก.ตร.ด้วย

องค์ประชุมจะมีเพียง น.ส.แพทองธาร น.ส.อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการ ก.พ. รศ.ประทิต สันติประภพ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รรท.รองผบ.ตร. นายศุภชัย ยาวะประภาษ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ

คาดว่าในวันที่ 7 ต.ค.2567 จะมีความชัดเจนว่า ผบ.ตร.คนที่ 15 เป็นใคร

ขั้นตอนต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป

สำหรับประวัติแคนดิเดต ผบ.ตร.ทั้ง 3 นาย มีดังนี้

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย อาวุโสลำดับ 1 เกษียณอายุราชการ ปี 2569

นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 41 นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 25 รับราชการตำรวจครั้งแรกตำแหน่ง รอง สว.สอบสวน สภ.อ.เมืองระยอง ติดยศ พล.ต.ต.เป็นเลขานุการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผบก.ส. 1 ทำงานด้านข่าวกรอง รอง จตร.(สบ 7) รอง ผบช.สกพ. ติดยศ พล.ต.ท. เป็น ผบช.ประจำ สำนักงาน ผบ.ตร. โยกเป็น ผบช.ภ.8 ผู้ช่วยผบ.ตร.และ รอง ผบ.ตร.

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เคยเป็นนายเวร พล.ต.อ.ธวัชชัย ภัยลี้ สมัยดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. และเคยเป็นหัวหน้าสำนักงาน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีตผบ.ตร.

การทำงานที่ทำให้โดดเด่นคือ การจับงานด้านการปราบปราม อาทิ นโยบายการปิดล้อมตรวจค้นชุมชนเป้าหมาย ตามโครงการปิดล้อมตรวจค้นชุมชนแพร่ระบาดยาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ “เด็ดปีกนักค้า รักษาผู้เสพ สร้างชุมชนปลอดภัยยาเสพติด” ซึ่งจับกุมยาเสพติดบิ๊กล็อตในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

ระหว่างนั่ง รองผบ.ตร.รับผิดชอบงานสำคัญหลายอย่าง งานบริหาร งานปราบปราม ผู้อำนวยการศูนย์ ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศอ.ปส.ตร.)ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.)

ส่วนงานที่เรียกว่าเปิดตัวเป็นกระแสรู้จักของสาธารณชนคือ รักษาราชการแทน ผบ.ตร.เป็นระยะเวลานาน 3 เดือน กอบกู้ภาพลักษณ์องค์กรหลังเกิดปมความไม่ลงรอยของบิ๊กตำรวจและลูกน้องในห้วงปีที่ผ่านมา สร้างขวัญและกำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชา

พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง หรือ บิ๊กบึก อาวุโสลำดับ 2 เกษียณอายุราชการ ปี 2568

นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 39 และนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 23 ผลงานโดดเด่น ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปนม.ตร.) และเป็นผู้ควบคุมคดีเรือน้ำมันเถื่อนของกลาง 3 ลำ หายหาย ไปจากท่าเรือตำรวจน้ำ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ศูนย์บังคับและต่อต้านอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (โดรน) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศบตอ.ตร.)

นอกจากนี้ พล.ต.อ.ไกรบุญ ยังมีความถนัด และมีประสบการณ์ในงานด้านความมั่นคง และกิจการพิเศษ

พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ หรือ บิ๊กธนา อาวุโสลำดับ 3 เกษียณอายุราชการปี 2569

นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 42 และนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 26 อาวุโสลำดับที่ 3 เกษียณอายุราชการปี 2569

รับผิดชอบงานสืบสวนสอบสวน และงานความมั่นคงและกิจการพิเศษ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปชก.ตร.)

พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ เคยเป็นอดีตนายเวร พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร และอดีต รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้อาจถูกมองเป็นสายบ้านป่า และหากสะท้อนจากภาพการเมือง ที่ไม่ปรากฏชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท ในยุครัฐบาลแพทองธาร ทำให้นักวิเคราะห์สีกากีมองว่าหาก พล.ต.อ.ธนา ขึ้นแท่น ผบ.ตร.อาจเผชิญแรงเสียดทานไม่น้อย

ทั้งนี้ หากวัดจากประวัติผลงานของ รองผบ.ตร.แคนดิเดต ทั้ง 3 คน เรียกว่าทุกคนล้วนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์และฝีมือสูสี

จากบทเรียนการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ในครั้งที่ผ่านมา การเสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล อาวุโสลำดับสุดท้าย ข้ามหัวแคนดิเดตหลายนาย ขึ้นมาเป็น ผบ.ตร. จนกลายเป็นเรื่องที่ถูกฟ้องร้องต่อ ป.ป.ช.

ล่าสุด กระแสที่มาแรง คาดหมายกันว่านายกฯแพทองธาร จะเสนอชื่อ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. อาวุโสลำดับ 1 ขึ้นเป็น ผบ.ตร. ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ สายตำรวจ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ และ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก

“ในการพิจารณาคัดเลือก ผบ.ตร. ซึ่งหลักเกณฑ์ตามกฎหมายให้คำนึงอาวุโส ความรู้ความสามารถ งานสืบสวนสอบสวนและงานป้องกันปราบปราม ส่วนตัว พิจารณาอาวุโส และความรู้ความสามารถลำดับต้นๆ ให้ความสำคัญคนที่อาวุโสที่ 1 มีความรู้ความสามารถ หากจะข้ามไปในระดับรองลงมา ต้องมีบันทึกเหตุผล ปีที่ผ่านมาพิจารณาอาวุโสสุดท้ายขึ้นมา มีปัญหาฟ้องร้อง และร้องเรียน” สัญญาณจาก พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ระบุจุดยืนชัดเจน


ขอบคุณเนื้อหาจาก กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/politics/1147954